ประวัติความเป็นมา

1. เสื่อกก เป็นเสื่อที่ผลิตจากต้นกก ซึ่งเป็นพืชล้มลุกมีหัวคล้ายข่า แต่เล็กกว่า ปลายลำต้นมีดอก แพร่พันธุ์ด้วยหัว ด้วยการแตกแขนงเป็นหน่อ กกจัดเป็นพืชเส้นใย ปลูกและเจริญงอกงามได้ดีในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากต้นกกพันธุ์ต่างๆ ได้แก่
             

1.1 เสื่อจันทบูร เป็นเสื่อที่ผลิตจากกกจันทบูร ซึ่งเป็นกกที่มีลักษณะลำต้นกลม จึงอาจเรียกว่ากกกลม หรือกกเสื่อ ลำต้นเรียวคล้ายต้นคล้า ผิวสีเขียวแก่ ข้างในลำต้นมีเนื้ออ่อน สีขาว เป็นกกที่ปลูกกันมานานแล้วในภาคตะวันออก คือ จังหวัดจันทบุรี ระยองและตราด ซึ่งมีการปลูกมากที่สุดในจังหวัดจันทบุรี ทั้งนี้หากเป็นกกที่ปลูกในแหล่งน้ำจืด เส้นใยกกจะไม่เหนียว แต่หากปลูกในแหล่งน้ำกร่อย (ที่แถบชายฝั่งทะเล) จะได้เส้นใยที่เหนียว
              

1.2 เสื่อกกที่ทอจากกกลังกา เป็นกกที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ต้นค่อนข้างกลม ใช้ทอเสื่อในบางจังหวัด เช่น สกลนคร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ กกจันทบูร กกกลมและกกลังกา มีลักษณะลำต้นกลมคล้ายกัน บางครั้งอาจมีความสับสนในการเรียกชื่อ
              

 1.3 เสื่อกกที่ทอจากกกสามเหลี่ยม ซึ่งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนำกกชนิดนี้มาใช้ ซึ่งชาวบ้านจะเรียกว่า กกผือ หรือต้นปรือ หรือกกควาย เช่นในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มหาสารคาม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ หนองคาย (กองส่งเสริมเทคโนโลยี .2535 : 5 – 8)
          กกสามเหลี่ยม มีลักษณะลำต้นเป็นรูปสามเหลี่ยม ด้านทั้งสามเว้าเข้าหาแกนกลาง ผิวสีเขียวอ่อน สูงประมาณ 1 เมตร ผิวแข็งกรอบและไม่เหนียว